SEO Trends 2021: 9 เทรนด์ SEO ที่ต้องรู้ พร้อมวิธีทำตามได้เลย
สวัสดีค่า 😊 วันนี้มาอัปเดตเทรนด์การทำ SEO เพื่อให้ทุกคนมีโอกาสติดหน้าแรกของ Google ได้ในปี 2021 และสร้างยอดขายจาก Google ได้ในระยะยาวไปด้วยกันนะคะ โดยนอกจากจะได้ดูเทรนด์ SEO ของปี 2021 แล้ว เมยังจะเติมวิธีการปรับเว็บไซต์และคอนเทนต์ให้ดีกับ SEO ในหัวข้อนั้นๆ ไปด้วย อ่านจบแล้ว เอาแนวทางไปปรับเว็บไซต์ และคอนเทนต์ของตัวเองได้เลย หวังว่าจะมีประโยชน์ แต่ถ้าคุณยังโสดทักมาหาผมได้นะครับ (ไม่เกี่ยว!)
เทรนด์ที่ 1: เว็บไซต์ที่ Mobile-friendly และ Responsive สำคัญที่สุด
เทรนด์การทำ SEO ในช่วงหลังๆ ก็คือการหันมาใส่ใจด้านประสบการณ์ของผู้ใช้งาน หรือ User Experiences มากขึ้นค่ะ และหนึ่งในประเด็นที่สำคัญที่สุดก็คือการเริ่มใช้ Mobile-first indexing ในเดือนมีนาคมปี 2021 ซึ่งถึงจะเรียกว่าเป็น Mobile-first แต่จริงๆ แล้วเหมือนเป็น Mobile-only มากกว่าค่ะ เพราะตัว Mobile-first ก็เริ่มใช้มาตั้งแต่ปี 2019 แล้ว
รายละเอียดของการอัปเดตครั้งนี้คือการเลือก Index เฉพาะหน้าเว็บบนมือถือ โดยใช้คำว่า “จะไม่สนใจหน้าเว็บบน Desktop เลย” แปลง่ายๆ ก็คือ ถ้าอยากให้หน้าเว็บของเรายังอยู่บน Google ต่อไป ต้องทำเว็บไซต์ให้ใช้งานบนมือถือได้ดีเท่านั้นค่ะ โดยถ้าจะให้ดีที่สุด คือการทำเว็บไซต์ให้ Responsive หรือใช้งานได้ทุกอุปกรณ์นั่นเอง ที่ Google ทำแบบนี้ก็เพราะว่าการใช้งานบนมือถือนั้นเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ สวนทางกับ Desktop ที่ค่อยๆ ลดลงค่ะ มีการคาดการณ์ไว้ว่าภายในปี 2025 คนกว่า 72% จะใช้อินเทอร์เน็ตแค่บนมือถืออย่างเดียวแล้ว ดังนั้นการปรับเว็บให้ใช้งานได้ดีบนมือถือ ไม่ใช่การสู้กับ Google แต่เป็นการตอบโจทย์คนที่ใช้งานจริงๆ ให้ดูเว็บเราได้ง่ายขึ้นค่ะ
วิธีการเช็กว่าเว็บไซต์ของเรา Mobile-friendly หรือยัง?
Mobile-Friendly Test Tool จาก Google
เราสามารถใช้เครื่องมือเช็ก Mobile-friendliness จาก Google เพื่อเช็กเว็บไซต์ของเราได้ง่ายๆ เลยค่ะ ด้วยการไปที่เว็บไซต์ https://search.google.com/test/mobile-friendly จากนั้นก็ใส่เว็บไซต์ของเราลงไป แล้วกด TEST URL ค่ะ ซึ่งวิธีนี้จะสามารถเช็กได้แค่ทีละหน้าเท่านั้นค่ะ
ถ้าเว็บไซต์ของเรา Mobile-friendly แล้ว จะขึ้นมาสีเขียวๆ แบบนี้ค่ะ บางครั้งจะเห็นตัวขึ้นเตือนสีเหลืองๆ ขึ้นมา ว่ามีปัญหาการโหลดบางส่วน อันนี้ต้องเข้าไปไล่โค้ดดูทีละตัวว่าอันไหนที่มีปัญหา แต่โดยทั่วไปแล้ว ถ้าเขียวๆ ก็คือโอเคสำหรับส่วนนี้แล้วค่ะ
เช็ก Mobile-friendliness ของทั้งเว็บไซต์ด้วย Google Search Console
สำหรับตัว Google Search Console นี้ จะทำให้เราสามารถเช็กได้ว่า เว็บเราใช้งานบนมือถือได้หรือเปล่า โดยตรวจสอบได้ทีเดียวทั้งเว็บไซต์เลย (เว็บไซต์กรุงเทพก็ตรวจสอบได้นะ — หืม?) ไม่ต้องดูทีละหน้าค่ะ เข้าไปดูได้ที่ Google Search Console (ดูวิธีติดตั้ง Google Search Console ได้ฟรี)
หลังจากเข้าไปแล้วก็คลิกที่เมนู Mobile Usability ทางซ้ายมือค่ะ ถ้าหน้าเว็บไหนมีปัญหา มันจะขึ้นแดงๆ มาๆ ถ้าโอเคก็เป็นสีเขียวค่ะ
วิธีปรับเว็บไซต์ให้ Mobile-friendly ทำยังไง?
- ใช้ข้อมูลชุดเดียวกันบนมือถือ และ Desktop รวมถึงการจัด Structure ต่างๆ ให้เหมือนกันไปเลยค่ะ ไม่ต้องแยกกัน คิดซะว่าข้อมูลทั้งหมด ก็คือแบบที่เราอยากให้คนเห็นอยู่แล้ว ไม่ว่าเข้าด้วยอุปกรณ์อะไรก็ตาม
- ทำเว็บให้ Responsive และใช้งานได้บนทุกอุปกรณ์ โดยพวก WordPress Theme ใหม่ๆ ไม่น่ามีปัญหาเรื่องนี้แล้วนะคะ แต่ลองเช็กดูอีกทีเพื่อความชัวร์ ก็จะดีที่สุดค่ะ
- พวกเว็บที่มีโดเมนแยก เช่น Facebook มี m.facebook.com กับ www.facebook.com ตัวนี้ไม่แนะนำ และ Google ก็บอกว่ามีบั๊คอยู่ ถ้าเข้าจาก Desktop ก็อาจจะเห็นเว็บ m. ได้ เพราะว่าเน้นดูด้วย Mobile อย่างเดียวแล้ว และจะไม่แก้บัคนี้ด้วย ดังนั้นเว็บไซต์ที่ใช้โดเมนแยกแบบนี้ ต้องหาทางจัดการเองค่ะ
- ตัวหนังสือขนาดไม่เล็กเกินไป ทยอยปรับทีละ 2 ไซส์ก็พอค่ะ เช่นตอนนี้ไซส์ตัวหนังสือเป็น 14 อยู่ก็ปรับเป็น 16 แล้วมาเช็กใหม่อีกที ว่า Mobile-friendly หรือยังค่ะ
- เมนูต่างๆ ที่คลิกได้ อยู่ไม่ใกล้กันเกินไปค่ะ พยายามให้มีช่องว่างระหว่างเรา เอ้ย ระหว่าง element ต่างๆ บนเว็บไซต์ เช่น รูป เมนู ปุ่มต่างๆ ค่ะ
- ไม่มีป็อปอัปต่างๆ ขึ้นมาบังหน้าจอเยอะๆ เว็บไซต์ที่มีโฆษณา Adsense ต้องระวังมากๆ รวมไปถึงเว็บไซต์ที่เข้าไปแล้ว มีป็อปอัปขึ้นมาให้แชทกับทีมงาน ต้องระวังไม่ให้บังหน้าจอเกินไป หรือไม่ก็ปิดป็อปอัปบนมือถือไปเลยค่ะ
- โหลดได้รวดเร็ว เช็กความเร็วเว็บไซต์ได้ที่ Google PageSpeed Insights เลยค่ะ ถ้าแดงคือไม่ดี เหลืองคือกลางๆ ปรับได้ก็ปรับ ส่วนเขียวนี่หายากมากๆ ค่ะ โดยทั่วไปแนะนำอย่าต่ำกว่า 60 ค่ะ
เทรนด์ที่ 2: Core Web Vitals ปัจจัยวัดมาตรฐานประสบการณ์การใช้งานของเว็บไซต์ (Page Experiences)
ตัว Core Web Vitals (แปลเป็นไทยว่า ขอ-เว็บ-ไว้เถอะ 😂) อาจจะค่อนข้าง Technical นิดนึงค่ะ แต่จะไม่พูดถึงก็ไม่ได้ เพราะ Google จะเอาเจ้า Core Web Vitals มาจัดอันดับ SEO ในเดือนพฤษภาคม 2021 ค่ะ โดยเป็นส่วนหนึ่งของ Page Experiences Update หรือความพยายามของ Google ที่จะเพิ่มประสบการณ์การใช้งานของผู้ใช้เว็บไซต์ให้ดีขึ้นค่ะ เรียกได้ว่าตัว Page Experiences หรือ User Experiences จะมาแรงมากๆ แน่นอน โดย Google บอกว่า ไม่ได้ถึงขนาดจะเอาเว็บที่คะแนนไม่ผ่านออกไปเลย แต่ว่าก็จะเอามาเป็นส่วนหนึ่งในการจัดอันดับค่ะ ดังนั้นปรับได้ปรับไว้ก่อน ไม่เสียอะไร มี่แต่ข้อดีค่ะ
วิธีการเช็กว่าเว็บไซต์ของเราผ่านมาตรฐาน Core Web Vitals หรือยัง?
เช็กคะแนน Core Web Vitals ได้ฟรีด้วย Google PageSpeed Insights
ไปที่ https://developers.google.com/speed/pagespeed/insights/ แล้วใส่หน้าเว็บของเราที่ต้องการเช็กลงไป แล้วกด Analyze ก็จะสามารถเช็กคะแนน Core Web Vitals ของเว็บไซต์เราได้ฟรีๆ อย่างรวดเร็วเลย โดยคะแนน Core Web Vitals จะมีป้ายสีฟ้าๆ แปะอยู่ค่ะ ถ้าเป็นสีเหลืองยังพอโอเค ถ้าเป็นสีแดงต้องมาหาทางแก้กันค่ะ
เช็กคะแนน Core Web Vitals ได้ฟรีด้วย Google Search Console
ตัวนี้ง่ายมากๆ เลยค่ะ เข้าไปที่ Google Search Console ของตัวเอง แล้วก็ไปที่เมนู Core Web Vitals ทางซ้ายมือได้เลย ถ้าอยากดูเพิ่มก็กดไปที่ Open Report ค่ะ โดยแนะนำให้โฟกัสไปโดดยาง เอ้ย โฟกัสไปที่ตัว Mobile นะคะ เพราะ Google จะเริ่มใช้วัดคะแนนและจัดอันดับแค่บนมือถือก่อนค่ะ
วิธีปรับเว็บไซต์ให้ดีกับ Core Web Vitals ทำยังไง?
การปรับเว็บไซต์ให้ดีกับ Core Web Vitals นี่ค่อนข้างยากนิดนึงค่ะ แต่ละเว็บไซต์ก็จะมีปัญหาไม่เหมือนกัน เพราะว่าตัว Core Web Vitals ประกอบไปด้วย 3 ตัวคือ
- Largest contentful paint
- First input delay
- Cumulative layout shift
โดยหลักๆ ก็คือดูว่าเว็บโหลดเร็วหรือเปล่า ลื่นมั้ย ใช้งานง่ายแค่ไหน คลิกอะไรแล้วตอบสนองได้ดีพอหรือยัง แต่ละตัวก็จะมีวิธีแก้ต่างกันไปค่ะ โดยทั่วไปก็คือ
- ทำเว็บไซต์ให้โหลดเร็ว
- เลือกโฮสและ Theme ดีๆ ไม่ให้หนัก ช้า ไม่ล่มบ่อย
- อย่าติดปลั๊กอินเยอะถ้าไม่ได้ใช้
- ใช้ Lazy Load ช่วยได้ ส่วนตัวเมใช้ WP Rocket และ Imagify มาช่วยค่ะ
ตัวนี้ค่อนข้างละเอียดและข้อมูลเยอะ เมเลยเขียนเป็นบล็อกแยกไว้ ลองมาแวะดูคู่มือการปรับเว็บให้ดีกับ Core Web Vitals ตัวเต็มได้นะคะ
เทรนด์ที่ 3: E-A-T ไกด์ไลน์ที่ Google นำมาใช้เป็นหลักมากขึ้นเรื่อยๆ
ตัว E-A-T นี่เริ่มมีคนพูดถึงเรื่อยๆ แล้วค่ะ และก็เริ่มเห็นในประกาศ ไกด์ไลน์ต่างๆ จาก Google บ่อยขึ้นเหมือนกันค่ะ โดยตัวนี้ไม่ได้เป็นปัจจัยการจัดอันดับโดยตรงค่ะ แต่เป็นไกด์ไลน์ที่ Google เอามาใช้เพื่อให้ Quality Raters หรือคนที่คอยดูว่า Algorithm ของ Google ทำงานดีหรือเปล่า ไว้ใช้ดูค่ะ
E-A-T ย่อมาจาก Expertise, Authoritativeness และ Trustworthiness พูดรวมง่ายๆ มันก็คือตัวที่วัดความน่าเชื่อถือของเว็บไซต์ ว่าเป็นผู้เชี่ยวชาญในเรื่องที่กำลังพูด รู้จริง ไม่เอียงข้าง เชื่อถือได้ โปร่งใส่ ใช้ข้อมูลจริง ค่ะ
การทำงานของมันคือ ทุกครั้งที่ Google ออก Algorithm ใหม่ ก็จะมีคนจริงๆ มาดูว่าตัวใหม่นี้จัดอันดับได้ดีจริงหรือเปล่า น่าเชื่อแค่ไหน คอนเทนต์มีคุณภาพแค่ไหน ถ้าไม่ดีก็เอากลับไปปรับกันใหม่ ก่อนเริ่มใช้จริงค่ะ โดยตัว E-A-T นี้เป็นส่วนที่สำคัญขึ้นเรื่อยๆ ในไกด์ไลน์สำหรับ Quality Raters ค่ะ นี่หมายความว่าคอนเทนต์ที่ทำได้ตรงกับไกด์ไลน์ ก็มีโอกาสจะติดอันดับแรกบน Google มากขึ้นเรื่อยๆ ค่ะ
เว็บไซต์ที่ได้รับผลกระทบจาก E-A-T มากที่สุด คือเว็บที่มีความสำคัญกับชีวิตของคนมากๆ เช่น หรือที่เราเรียกว่าคอนเทนต์ประเภท “your money, your life” (YMYL) ค่ะ เช่น พวกเว็บไซต์สุขภาพ การวางแผนทางการเงิน ภาษี บัญชี ประกัน อะไรแบบนี้ค่ะ แต่ทุกเว็บไซต์ก็กระทบหมดเลย อาจจะในสัดส่วนที่น้อยกว่าค่ะ ดังนั้นแล้วทุกครั้งที่วางแผนเว็บไซต์หรือคอนเทนต์ จะต้องดูไกด์ไลน์เรื่อง E-A-T ไว้ด้วยเสมอ
วิธีทำคอนเทนต์ให้ดีกับ E-A-T ทำยังไง?
ความเชี่ยวชาญไม่สามารถสร้างในวันเดียวได้ ไม่ต่างอะไรจากการสร้างความเชี่ยวชาญและน่าเชื่อถือในสายตาของ Google ที่ต้องใช้เวลาค่ะ มันเลยสำคัญมากๆ ที่เราจะเริ่มทำตั้งแต่วันนี้ เพราะเริ่มช้า ก็ยิ่งสำเร็จช้า แต่ถ้าอยากเริ่มเป็นคนในสายตา ก็ทักมาได้เลย (ไม่เกี่ยว!) วิธีการเพิ่ม E-A-T ทำได้เองเลยค่ะ เช่น
- ใช้แหล่งอ้างอิงข้อมูลที่น่าเชื่อถือเสมอ เช่น ถ้าเขียนเรื่องงานวิจัยโรคมะเร็ง ใช้แหล่งอ้างอิงจากองค์การอนามัยโลก หรือเว็บไซต์มหิดล จะดีกว่าการลิงก์แหล่งอ้างอิงไปโพสต์ของคนทั่วไปบน Facebook หรือเว็บบล็อกที่ใครๆ ก็เขียนได้ค่ะ การพยายามเลือกอ้างอิงลิงก์ประเภท .edu หรือ .gov ก็จะช่วยให้ลิงก์ดูดีขึ้นได้ค่ะ
- เลือก Backlink ที่ดี พยายามอย่าหาลิงก์จากเว็บที่ดูมั่วๆ เป็นแสปม หรือพนันค่ะ หาลิงก์จากเว็บที่น่าเชื่อถือ เช่น ถ้าเราเป็นเว็บไซต์เกี่ยวกับสุขภาพ แล้วมีโอกาสได้ลิงก์จากเว็บบอร์ด 100 อัน เทียบกับได้ลิงก์จากเว็บไซต์ของกระทรวงสาธารณสุข 1 อันเดียว การเลือกได้ลิงก์จากกระทรวงอันเดียวอาจจะดีกว่าค่ะ
- ใช้ชื่อนามสกุลจริงในการเขียนคอนเทนต์ และใส่ชื่อคนเขียนลงไปในบทความเสมอค่ะ เพราะ Google อยากเลือกคอนเทนต์ที่เขียนโดยผู้เชี่ยวชาญ ดังนั้นถ้าเราใช้ชื่อปลอม นามแฝง เช่น admin หรือเปลี่ยนชื่อคนเขียนคอนเทนต์ในเว็บเราไปเรื่อยๆ ก็จะไม่มีวันได้เป็นผู้เชี่ยวชาญ ในเรื่องนั้นๆ ได้สักทีค่ะ
- เพิ่มความโปร่งใสให้กับเว็บไซต์ ด้วยการใส่ข้อมูลติดต่อต่างๆ ลงไปในเว็บค่ะ ทั้งชื่อบริษัท เบอร์โทรศัพท์ ที่อยู่ อีเมล ให้ครบ ถูกต้อง และชัดเจน รวมถึงในหน้า “เกี่ยวกับ (About)” ก็ใส่ข้อมูลเกี่ยวกับบริษัท หรือเจ้าของเว็บไซต์ลงไปให้มากที่สุดค่ะ
- พยายามให้คนพูดถึงเราในเรื่องนั้นบ่อยๆ ค่ะ เหมือนเวลาไปสมัครงานแล้วมีคนรีเฟอร์มานั่นแหละ ถ้ามีคนพูดถึงบ่อยๆ ว่าเราทำเรื่องนั้นได้ดี ก็จะช่วยเราดูเชี่ยวชาญขึ้นค่ะ เช่น ผู้เชี่ยวชาญในวงการพูดถึงเราใน Twitter หรือเว็บไซต์จัดอันดับลิงก์มาว่าเราได้เป็นเว็บไซต์ที่ดีที่สุดในเรื่องนั้นๆ ค่ะ
เมทำ Podcast เรื่อง E-A-T ไว้ด้วย ใครสนใจติดตามไปฟังกันต่อได้นะคะ 🙂
เทรนด์ที่ 4: ไม่ต้องทำบล็อก ไม่โฟกัสที่คีย์เวิร์ด แต่ดู Search Intent
ปีนี้คำว่า Search Intent ได้รับความสนใจมากขึ้นเรื่อยๆ เลยค่ะ เรียกง่ายๆ มันก็คือจุดประสงค์ของการค้นหานั่นเอง สมัยนี้ Google แทบจะไม่ได้ต้องการดูคีย์เวิร์ดมากแล้วค่ะ แต่เค้าจะเข้ามาดูข้อมูลของเว็บไซต์ ความน่าเชื่อถือ และประสบการณ์ใช้งานเว็บไซต์โดยรวมเพื่อหาคำตอบให้ทุกการเสิร์ชได้อย่างเร็วที่สุด ดังนั้นแล้วเว็บไซต์ที่ขึ้นมาแสดงผลในหน้าแรกของ Google อาจจะไม่ได้คีย์เวิร์ดที่เราพิมพ์ลงไปแม้แต่คำเดียวเลยก็ได้ แต่อาจจะตอบคำถามของเราได้ค่ะ
Google ช่วงแรกๆ โฟกัสที่คำเพราะว่ามันง่ายที่สุด เหมือนเวลาเราคิดถึงเสป็คของแฟน ก็จะมีลิสๆ ไว้ เพราะมันง่ายใช่มั้ยล่ะคะ? การบอกว่าชอบคนผิวแทน สูง คิ้วเข้ม มันง่ายกว่าการบอกว่าชอบวิถีชีวิตแบบไหน มุมมองต่อโลกเป็นยังไง ทั้งๆ ที่เรื่องพวกนี้สำคัญกว่ารูปลักษณ์ภายนอก แต่พอเราโตขึ้น ก็จะเลิกมองสิ่งผิวเผิน มาดูกันลึกๆ ว่าคนไหนจะตอบโจทย์การเป็นคู่ชีวิตได้ เหมือนตอนนี้ที่ Google มูฟออนมาเลือกเว็บไซต์และคอนเทนต์ที่ตอบโจทย์ที่สุด แทนตรงคีย์เวิร์ดที่สุดแล้วค่ะ
วิธีทำคอนเทนต์ให้ตรงกับ Search Intent ยังไง?
- ลองเสิร์ชคำที่เราอยากได้ใน Google ก่อนค่ะ ว่าคอนเทนต์ที่ขึ้นมาเป็นแบบไหน (บทความ, วิดีโอ, รูปภาพ, เว็บไซต์ของแบรนด์, หน้าขายของ e-commerce) แล้วค่อยทำคอนเทนต์ที่เหมาะกับบทความนั้นๆ เช่น จากภาพด้านล่าง เมเสิร์ชคำว่า “iphone unboxing” คอนเทนต์ส่วนใหญ่เป็นวิดีโอ และมีรูปแทรกมา แสดงว่าคนเสิร์ชมี Intent ที่อยากดูวิดีโอ ไม่ได้อยากอ่านอะไรยาวๆ แบบนี้ถ้าเราอยากติดหน้าแรกของคำนี้ เราก็ควรทำวิดีโอค่ะ ถ้าเขียนบล็อกยังไงก็ไม่มีทางติดแน่นอน
2. เช็กว่าคอนเทนต์เป็นสไตล์ไหน เช่น คอนเทนต์ประเภทความอันตรายของ AI ส่วนใหญ่จะเป็นพวกบทความยาวๆ ที่แสดงความคิดเห็นของคนเขียน หรือถ้าเป็นวิธีเก็บเงิน มักจะเป็นพวก XX วิธีในการเก็บเงิน แบบนี้เราก็ควรทำคอนเทนต์เป็นสไตล์เดียวกันค่ะ
เทรนด์ที่ 5: คอนเทนต์ยาว ลึก ครบ คุณภาพดี
สำหรับปัจจุบันและอนาคต เราจะไม่เน้นปริมาณแล้วค่ะ แต่เราเน้นคุณภาพ ดังนั้นอย่าเสียเวลาไปกับการอัปคอนเทนต์บ่อยๆ หรือเวลาจ้างคนทำงาน ก็อย่านับกันที่จำนวนบทความนะคะ ไม่ใช่ว่าจำนวนบทความที่เขียนให้เยอะคือคุ้มค่า หรือบทความราคาถูกแต่จำนวนมากจะดี แต่เรากำลังเข้าสู่ยุคของการทำคอนเทนต์ที่ลึก ครบ และยาวค่ะ
รีเสิร์ชพบว่าคอนเทนต์ที่ยาวเกิน 3000 คำ สร้าง traffic ได้มากกว่าคอนเทนต์สั้นๆ สามเท่า และคนแชร์มากกว่าสี่เท่าเลยค่ะ นอกจากนี้ยังดีต่อการสร้างแบ็กลิงก์อีกด้วย ส่วนตัวเมเชื่อว่าคอนเทนต์ที่ลึก และครบ สำคัญกว่ายาวค่ะ โดยส่วนใหญ่แล้วถ้าพยายามเขียนให้ลึก มันจะยาวไปเอง
วิธีทำคอนเทนต์ให้ลึก ครบ และมีคุณภาพยังไง?
การทำคอนเทนต์ให้ลึก คือการเขียนให้ครบทุกเรื่องให้จบในที่เดียวค่ะ เช่น เขียนรีวิวร้านอาหาร ก็ควรจะต้องมีราคา เบอร์โทร โลเคชัน ที่อยู่ เมนู ไม่ใช่มีแต่ชื่อร้านกับรูป เป็นต้นค่ะ มีเทคนิคง่ายๆ คือ
ดูคู่แข่ง
ลองเสิร์ชดูว่า สำหรับหัวข้อที่กำลังเขียนนั้น สิบเว็บแรกในหน้าแรกเค้าเขียนอะไรกัน แล้วเราต้องเขียนให้ครบทุกหัวข้อที่คนอื่นเขียน แต่เขียนให้ครบ ลึก และดีกว่าค่ะ
ใส่หัวข้อย่อย (Secondary Keywords เสมอ)
การใส่หัวข้อย่อยๆ ลงไปในบทความ นอกจากจะช่วยให้บทความของเราครบและลึกมากขึ้นแล้ว ยังจะช่วยให้คอนเทนต์ของเรามีโอกาสติดอันดับมากกว่า 1 คำ ทำให้มีโอกาสสร้าง Traffic มากขึ้น จากการทำคอนเทนต์เดียวค่ะ ทำได้ง่ายๆ เช่น
- ลองพิมพ์คำที่อยากได้ลองไปใน Google แล้วดูว่าคำที่ขึ้นต่อมาคืออะไรค่ะ คำที่ขึ้นมาเราเรียกมันว่า LSI (Latent Semantic Indexing) พวกนี้เอามาใส่เป็นหัวข้อย่อยในคอนเทนต์ของเราได้ เช่นจากตัวอย่างข้างล่างนี้ ถ้าเมจะเขียนบทความเรื่อง SEO Tools แล้ว ในหน้านั้นก็ควรจะมีหัวข้อที่พูดถึง SEO Tools คือ, SEO Tools ที่ใช้งานได้ฟรี, และ SEO Tools สำหรับการเช็ก Plagiarism หรือเช็คว่าคอนเทนต์นั้นๆ ซ้ำกับคอนเทนต์อื่นหรือเปล่าค่ะ
- คอยดูหัวข้อ Search Related to หรือการค้นหาที่เกี่ยวข้องค่ะ จะอยู่ท้ายๆ หน้าแรก ตัวนี้ก็จะบอกได้ว่าคนเสิร์ชเรื่องอะไรที่เกี่ยวข้องบ้าง
- ใช้เครื่องมือเช็กได้ฟรี เช่น Keyword.io หรือ Answer the public ที่เราเข้าไปพิมพ์คำที่อยากได้ แล้วมันจะขึ้นคำอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องมาเพียบเลย แต่ส่วนตัวเมใช้ Ahrefs ค่ะ มีตัวฟรีให้ใช้เหมือนกัน เข้าไปที่ Ahrefs Keyword Generator ใส่คำที่อยากได้ เลือกประเทศ แล้วกด Find Keywords ได้เลย ตัวนี้จะดีตรงที่บอกจำนวนการค้นหาของคำในหัวข้อย่อยๆ พวกนี้ได้ด้วยค่ะ ถ้าคนเสิร์ชคำย่อยเยอะๆ อาจจะได้ไอเดียมาเปิดเป็นคอนเทนต์ใหม่ได้ด้วย
เทรนด์ย่อยที่รู้ไว้ แต่ไม่ต้องโฟกัสมาก
ส่วนนี้คือส่วนที่อยากเพิ่มเติมให้ค่ะ บางอย่างเป็นฟีเจอร์ที่ออกมาหลายปีมากแล้ว Google ยังเทสเรื่อยๆ คนตื่นเต้นกันทุกปี แต่ก็ยังไม่มีอะไรใหม่ค่ะ หรือไม่ได้เป็น Game Changer ขนาดนั้น ติดตามกันไว้เป็นแนวทางก็พอ แต่ยังไม่ได้ปรับอะไรมากค่ะ บางส่วนก็เป็นฟีเจอร์ใหม่มากๆ ที่ยังไม่มีข้อมูลมากพอว่าต้องทำอะไรต่อ แบบนี้ควรติดตามอัปเดตไว้เรื่อยๆ จะคอยอัปเดตในเพจเรื่อยๆ ด้วยค่ะ 🙂
Google Passage Ranking
ตัว Google Passage Ranking นี้ Google ปล่อยออกมาเมื่อตุลาคม 2020 นี้เองค่ะ เป็นส่วนหนึ่งของการเล่าว่า AI จะมามีบทบาทในการทำ SEO มากขึ้นเรื่อยๆ โดยตัวนี้จะกระทบกับ 7% ของการค้นหาทั้งหมด ซึ่งเยอะมากๆ เลยค่ะ มันคือเวลาที่เราค้นหาข้อมูล แล้วมี Featured Snippets ขึ้นมา แล้วพอคลิกเข้าไป ก็จะมีไฮไลท์สีเหลืองๆ ให้ ว่าตัวหนังสือนี้มาจากส่วนไหนค่ะ ตัวนี้ Google ออกมาเพื่อจัดการกับเว็บที่ UX ไม่ดี เช่น เขียนเป็นพารากราฟเดียว เป็นพรืดยาวๆ จนหาไม่เจอว่าที่จะอ่านอยู่ตรงไหน ก็จะเอาอันนี้มาช่วยไฮไลท์ค่ะ
ข้อแตกต่างจาก Featured Snippets ก็คือ Google จะพยายามแสกนบางส่วนข้างหน้า แทนการดูคอนเทนต์ของทั้งหน้าก่อนที่จะจัดอันดับค่ะ ดังนั้นถ้าหน้าเว็บนั้นพูดถึงหลายๆ หัวข้อ แต่มีหัวข้อนึงตรงกับคำค้นหา กูเกิลก็จะเอาหัวข้อ หรือส่วนของหน้านั้นๆ มาแสดงค่ะ
การปรับเว็บให้ดีต่อเจ้าตัวนี้ ก็คือการแบ่งข้อมูลเป็นส่วนๆ ใต้หัวข้อย่อย แทนที่จะเขียนบทความเป็นตัวหนังสือพรืดยาวๆ จนอ่านยาก ก็จะช่วยให้ Google เข้าใจเนื้อหาบนเว็บเราได้ง่ายขึ้นค่ะ เพราะ Google ยังบอกไว้ด้วยเลยว่า เวลามาดูข้อมูลบนเว็บ ดูจากหัวข้อก่อน ค่อยอ่านตัวหนังสือค่ะ
Featured Snippets ติดอันดับศูนย์บน Google
ตัวนี้คนพูดถึงกันบ่อยมากๆ ค่ะ ว่าจะเป็น The next big thing แต่ความจริงคือปล่อยออกมาตั้งแต่ปี 2014 เรียกได้ว่าจะสิบปีแล้ว ก็ยังไม่ได้มีข้อมูลอะไรมาก หรือไม่ได้เฉพาะเจาะจงว่าต้องทำอะไร แต่ช่วงนี้ก็มีข้อมูลที่น่าสนใจออกมากขึ้นค่ะ เช่น
- หลังจากที่เว็บติดอันดับในกล่องคำตอบนี้ได้ ทำให้ CTR หรืออัตราการคลิกเข้าเว็บของเค้าเพิ่มขึ้นจาก 2% เป็น 8% และรายได้จากคนเข้าเว็บเพิ่มขึ้น 677%
- เว็บไซต์ ConfluentForms.com มีคนเข้าเว็บเพิ่มขึ้น 20–30% หลังจากติด Featured Snippet ได้
แต่เจ้าตัว Featured Snippets นี้ก็ไม่ได้ดีไปทั้งหมดนะคะ บางครั้งอาจจะทำให้คนคลิกเข้าเว็บเราน้อยลงด้วยซ้ำ เพราะมีคำตอบโชว์มาตั้งแต่หน้าแรกก่อนคลิกแล้ว
ตัว Featured Snippets มีหลายประเภทเลยค่ะ ทั้งตัวหนังสือยาวๆ แบบพารากราฟ, คอนเทนต์แบบหัวข้อ เป็นลิสๆ, ตาราง, หรือกระทั่งวิดีโอ และตัวที่ติดอันดับศูนย์เยอะที่สุด ก็คือแบบตัวหนังสือปกติ (Paragraph) ค่ะ คิดเป็น 70% เลยทีเดียว และโดยเฉลี่ยแล้วคำตอบในกล่องคำตอบนี้ยาวแค่ 45 คำ และยาวที่สุด 97 คำเท่านั้นค่ะ
การทำเว็บให้ติด Featured Snippets นั้นไม่ต่างอะไรจากการทำเว็บให้ดีต่อ SEO ในด้านอื่นๆ ข้างบนที่เราพูดถึงกันไปแล้วค่ะ เช่น
- ทำเว็บให้ดี โหลดเร็ว ใช้งานง่าย ใช้ได้บนมือถือ
- มี Secondary keywords เสมอ
- แบ่งเนื้อหาเป็นหัวข้อสั้นๆ อย่าเขียนเป็นพารากราฟพรืดๆ ยาวๆ
- ทำคอนเทนต์ให้ตรงกับ Search Intent
- อันที่เพิ่มมาจะเป็นการตั้งหัวข้อเป็นคำถามค่ะ ตัวนี้เมมีเขียนบทความเรื่อง Featured Snippets แบบเต็มๆ ไว้ ตามไปดูเพิ่มกันได้นะคะ 🙂
การทำ SEO ด้วยรูปและวิดีโอ
จริงๆ ตัวรูปนี่ไม่มีอะไรมากค่ะ หลักๆ ก็คือ
- การ Compress รูปให้ขนาดไม่ใหญ่เกิน (Imagify ช่วยได้ค่ะ)
- ตั้ง Alt text ให้กับทุกรูป
- ใส่ Title ที่ดีรูป แทนการตั้งเป็น FinalXX.png
- เลือกรูปที่ชัด คุณภาพดี เกี่ยวข้องกับคอนเทนต์
- ถ้าอยากแอดวานซ์ เลือกใช้ CDN และ Lazy Load ได้ค่ะ
ส่วนตัววิดีโอ ก็เพิ่มการช่วยให้กูเกิลเข้าใจวิดีโอของเราได้ง่ายขึ้น เช่น
- ตั้งชื่อวิดีโอ คำอธิบายวิดีโอ ใส่ Tags ให้มีคีย์เวิร์ดที่อยากได้
- ใส่ Subtitle
- แบ่งวิดีโอเป็นส่วนๆ เช่นสำหรับวิดีโอรีวิวไอโฟน ก็อาจจะเป็น วินาทีนี้พูดถึงจอไอโฟน วินาทีนี้พูดถึงที่ชาร์จไอโฟน
- และสุดท้าย เวลาที่เอาวิดีโอมาใส่เว็บไซต์ ให้เอาเป็นลิงก์ Embed มา อย่าอัปโหลดวิดีโอลงเว็บไซต์ เพราะมันจะทำให้เว็บโหลดคอนเทนต์ได้ช้า ไม่ดีต่อ UX ค่ะ
Voice Search
การค้นหาด้วยเสียงนี่เปิดตัวมาตั้งแต่ปี 2012 แล้วค่ะ คนพูดมาตลอดเลยว่าจะมาพลิกโฉมวงการเสิร์ช เมื่อปี 2017 เค้าคาดกันไว้ว่าภายในปี 2020 Voice Search จะเป็นครึ่งนึงของการเสิร์ชทั้งหมดค่ะ
พอปีนี้คนใช้เยอะขึ้น ก็เริ่มมีข้อมูลมากขึ้นว่า ที่คนใช้เยอะจริงๆ ไม่ใช่ Voice Search แต่เป็น Voice Assitant เช่น Google Assistant, Siri, Alexa ค่ะ ซึ่งคนใช้เพื่อถามคำถาม หรือสั่งคำง่ายๆ แต่ไม่ซื้อของในช่องทางนี้ เพราะไม่ได้มีตัวเลือกเยอะเหมือนเสิร์ชเอง เช่นจะซื้อรองเท้าสักคู่ เราก็คงอยากรีเสิร์ชก่อน แทนที่จะบอกให้ Siri ซื้อให้เลยใช่มั้ยล่ะคะ? อีกอย่างคือคนก็ยังไม่ค่อยมั่นใจที่จะจ่ายเงินผ่านช่องทางนี้ด้วย
ดังนั้นแล้วไม่ต้องสนใจ Voice Search มากขนาดนั้นค่ะ เขียนคอนเทนต์ให้ดี กระชับ ตรงกับ Search Intent น่าเชื่อถือ ใช้งานบนมือถือได้ดี โหลดเร็ว และทำหัวข้อเป็นสไตล์คำถาม ซึ่งเป็นสิ่งที่เราก็ควรทำทั้งหมดอยู่แล้ว เท่านี้ก็ไม่ต้องปรับอะไรเพิ่มสำหรับ Voice Search แล้วค่ะ
หวังว่าบทความนี้ จะช่วยให้ทุกคนได้เข้าใจเทรนด์และแนวทางในการทำ SEO ปี 2021 นี้ได้อย่างครบถ้วน ไปทำตามแล้วปรับคอนเทนต์และเว็บไซต์ได้ จนติดหน้าแรกของ Google ไปด้วยกันนะคะ ถ้าบทความนี้มีประโยชน์ ฝากกดแชร์เป็นกำลังใจ ❤️ แล้วติดตามกันได้บน Facebook นะคะ 😊