Search Intent คืออะไร?​ คู่มือฉบับครบ สำหรับมือใหม่ (2021)

Chalakorn Berg
4 min readMar 11, 2021

Search Intent หรือจุดประสงค์ของการค้นหา คือหนึ่งในปัจจัยที่สำคัญที่สุดในการทำ SEO ไม่ว่าจะเป็นการทำคอนเทนต์​ประเภทบล็อก วิดีโอ รูปภาพ หรือ e-commerce ก็ตาม เพราะไม่ว่าจะเป็นการค้นหาแบบไหน คอนเทนต์อะไร เป้าหมายที่สำคัญที่สุดของ Google ก็คือการทำให้คนเจอข้อมูลหรือสิ่งที่ต้องการให้เร็วที่สุด วันนี้เราจะมาทำความรู้จักกับเจ้าจุดประสงค์ในการค้นหานี้กันค่ะ ว่า Search Intent คืออะไร​ แล้วเราจะนำมาปรับใช้กับการทำคอนเทนต์ได้ยังไงบ้างค่ะ 🙂

Search Intent คืออะไร?

Search Intent ก็คือจุดประสงค์ในการค้นหา หรือเรียกง่ายๆ ก็คือการดูว่าคนมากูเกิลคำนั้นไปทำไมนั่นเองค่ะ เช่น บางคนเสิร์ชหาข้อมูลใน Google เพื่อตอบคำถามเรื่องที่สงสัย บางคนอยากดูรูป บางคนอยากซื้อของ บางคนอยากอ่านรีวิว หน้าที่ของคนที่ทำคอนเทนต์ เว็บไซต์​ และ SEO ก็คือการทำความเข้าใจ Search Intent นี้ว่าคนอยากเจออะไร แล้วทำคอนเทนต์ที่ตอบโจทย์กับคนที่ใช้ Google ให้มากที่สุดค่ะ

Tips: โดยบางทีเราก็แทนคำว่า Search Intent ด้วยคำว่า User Intent (จุดประสงค์ของผู้ใช้งาน) หรือ Audience Intent (เจตนาของคนดู) ได้ค่ะ

Search Intent สำคัญยังไง?

Google กล่าวไว้ค่ะว่า Mission ของ Google ก็คือ “การจัดการข้อมูลในโลกนี้ เพื่อให้ข้อมูลนั้นเข้าถึงได้และเป็นประโยชน์สำหรับทุกคน” ดังนั้นแล้วถ้าเราอยากติดอันดับบน Google เราก็ต้องทำคอนเทนต์ที่ “มีประโยชน์และเข้าถึงได้” โดยเจ้าประโยชน์นี้เองค่ะ ที่ขึ้นอยู่กับ Search Intent เป็นหลัก ส่วนเรื่องรักยังเป็นรอง (ฮิ้ววว)

ยกตัวอย่างง่ายๆ สมมติว่าเรากำลังหาข้อมูลเกี่ยวกับประเภทของกาแฟ และการคั่วกาแฟ เพื่อจะทำกาแฟสุดเพอร์เฟ็คสักแก้วให้แฟนในยามเช้าต้อนรับวันใหม่เนื่องในโอกาสวันครบรอบ แต่ถ้าพอไปเสิร์ชใน Google แล้วการค้นหาที่ขึ้นมาเป็นร้านกาแฟไปทั้งหมด มันก็คงจะไม่ตอบโจทย์การค้นหา ไม่ตรงกับ Search Intent ของเรา เพราะเราไม่ได้อยากไปร้านกาแฟ แต่เราอยากทำเอง หมายความว่าผลการค้นหานั้นไม่มีประโยชน์กับเรา อย่างที่ Google อยากให้เป็นค่ะ

โดย Google ก็โฟกัสที่เรื่องนี้มากๆ ตัว Quality Raters Guideline ที่ Google ทำเอาไว้ล่าสุด ก็โฟกัสมาที่ Search Intent ไม่น้อยเลย แถมยังมีบล็อกที่โฟกัสมาเรื่อง Search Intent เช่นกัน

ดังนั้นแล้วถ้าเราต้องการติดอันดับบน SEO เราต้องเป็นผลลัพธ์ที่เกี่ยวข้อง (Relevant) กับคำค้นหาครั้งนั้นให้มากที่สุด และจะเป็นคอนเทนต์ที่ถูกเลือกนั้นได้ ก็ต้องเริ่มต้นจากการทำความเข้าใจ Search Intent ก่อน นี่เป็นหัวใจหลักของการทำ SEO ยุคใหม่เลยค่ะ

นอกจากจะเป็นประโยชน์กับคนอ่าน ช่วยให้ติดหน้าแรกได้ และ CTR (อัตราการคลิกเข้าเว็บ) ที่เพิ่มขึ้นแล้ว การที่เราทำคอนเทนต์ได้ตรงกับ Search Intent ยังจะช่วยให้คนที่เข้ามาเว็บไซต์ของเราได้คำตอบในที่เดียว ใช้เวลาอยู่บนเว็บนานๆ ไม่ใช้เข้าปุ๊ปออกปั๊ป แล้วก็ไม่ต้องไปหาข้อมูลที่อื่นอีก และพฤติกรรมพวกนี้ก็จะช่วยให้เว็บเราดูดีมีคุณภาพในสายตา Google ซึ่งดีกับ SEO โดยรวมต่อไปอีกค่ะ โดย Metrics พวกนี้เราจะเห็นได้จากบนเรื่องมือที่เราใช้แทร็คข้อมูล เช่น Google Analytics ค่ะ

Search Intent มีแบบไหนบ้าง?

Search Intent ก็คือการค้นหาในเต็นท์ (ไม่ใช่!) แบ่งออกได้เป็น 4 ประเภทหลักๆ ค่ะ

การค้นหาเพื่อหาข้อมูล (Informational)

การเสิร์ชประเภทนี้เป็นการหาข้อมูล หรือการตอบคำถามบางอย่าง ซึ่งเรียกได้ว่าเป็นส่วนใหญ่ของการค้นหาบน Google เลยก็ว่าได้ค่ะ รวมไปถึงการค้นหาด้วยเสียง ที่มักจะใช้เป็นคำถามง่ายๆ เพื่อหาคำตอบเร็วๆ แต่ไม่ใช่ว่าทุกการค้นหาแบบนี้จะเป็นการค้นหาประเภทคำถามนะคะ แต่ว่าเป็นได้หลายอย่างเช่น

  • พารากอนเปิดหรือเปล่า?
  • แคลลอรี่ในช็อกโกแล็ต
  • วิธีทำกะหล่ำปลีผัดน้ำปลา
  • วันหยุดปีนี้
  • Backlink คืออะไร?​

ซึ่งแม้จะเป็นการค้นหาข้อมูลที่ดูธรรมดา แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าการเข้าใจ Search Intent จะเป็นเรื่องง่ายเลยนะคะ ลองคิดดูว่าถ้ามีคนเสิร์ชคำว่า “โรตี” นั่นหมายความว่าเค้าจะอยากเจออะไร ระหว่าง

  • โรตีคืออะไร
  • หารูปโรตี
  • ดูวิธีทำ
  • หาร้านโรตี
  • ดูคุณค่าทางสารอาหาร

สำหรับคำที่ Search Intent มีได้หลายแบบ และอาจจะยังไม่แน่นอนแบบนี้ Google ก็จะเก็บข้อมูลและพัฒนาไปเรื่อยๆ เพื่อดูว่าสิ่งที่คนอยากเจอตอนเสิร์ชจริงๆ คืออะไรค่ะ โดยรวมไปถึง Format ของข้อมูลด้วย เช่น ถ้าเป็นสูตรทำโรตี อาจจะต้องมีวิดีโอประกอบ ส่วนถ้าเป็นการดูคุณค่าทางสารอาหารก็อาจจะขึ้นผลการค้นหาเป็นตารางแทนค่ะ

การค้นหาเพื่อหาทางไปเว็บไซต์ (Navigational)

อันนี้เป็นการเสิร์ชพวกที่คนจะไปเข้าเว็บใดเว็บหนึ่งที่รู้จักอยู่แล้ว แต่ว่าจำชื่อเว็บไม่ได้ หรือไม่อยากพิมพ์ URL ลงไปใน Address bar เองค่ะ เช่นคีย์เวิร์ดพวกที่มีชื่อแบรนด์​ แบบนี้

  • Facebook
  • Ahrefs Login
  • Spotify Podcast

หรือบางทีเราอาจจะเสิร์ชอะไรที่มันเฉพาะเจาะจงอยู่แล้ว เช่น บทความเรื่อง Core Web Vitals มีเยอะเลย แต่จำได้ว่าเมเคยเขียนไว้ อยากอ่านแบบที่เมเขียน

  • ถ้าเสิร์ช “Core Web Vitals” เฉยๆ ก็จะเป็นการค้นหาแบบ Informational
  • แต่ถ้าเสิร์ชว่า “Core Web Vitals Chalakorn Berg” แบบนี้ก็จะเห็นบทความของเมที่อยากอ่านขึ้นมาเลย เป็นการเสิร์ชแบบ Navigational ค่ะ

ซึ่งการติดอันดับสำหรับคำประเภทนี้ ก็จะดีกับแบรนด์ซึ่งเป็นที่รู้จักและมีชื่อเสียงอยู่แล้วค่ะ เพราะถ้าคนไม่รู้จักเรา ไม่เสิร์ชหาแบรนด์หรือชื่อของเรา ต่อให้ติดไปก็ไม่มีคนเข้าอยู่ดีค่ะ

การค้นหาตัวเลือกเพื่อตัดสินใจ (Commercial investigation)

อันนี้จะเป็นการค้นหาเพื่อการซื้อในอนาคต เรียกได้ว่ารู้ปัญหาหรือสิ่งที่ต้องการแล้ว แต่ยังไม่ได้ตัดสินใจว่าจะซื้ออันไหนดี การค้นหาประเภทนี้ก็จะเน้นไปที่การดูข้อมูล รีวิว เปรียบเทียบสินค้าและบริการต่างๆ ค่ะ เช่น

  • เรียน SEO ที่ไหนดี? (แอบกระซิบว่าเราก็มีเปิดสอนนะ 😉)
  • Ahrefs VS Semrush
  • โรงแรมเชียงใหม่
  • ร้านอาหารบรรยากาศดี

การค้นหาแบบนี้ บางเว็บไซต์ก็เลือกที่จะทำรีวิวสินค้าตัวเองเทียบคู่แข่งไปเลย ถ้าจะเทียบก็ขอให้มีโอกาสเทียบบนเว็บของเรา ถึงจะต้องมีการพูดถึงคู่แข่งบนเว็บ แต่เราก็ได้เขียนรีวิวจากมุมของของเราเอง คนที่อ่านก็อาจจะมีโอกาสตัดสินใจซื้อกับเราได้ง่ายกว่าค่ะ

เหมือนช่วงที่กำลังตัดสินใจว่าจะเลือกคนคุยคนไหนเป็นแฟนจริงจังดี ช่วงนี้เรายังพรีเซนต์ตัวเองได้เต็มที่ ขอเป็นเพียงหนึ่งในตัวเลือก ของคนที่เธอฝัน (เพียงแค่นั้นก่อนนนน ~~~) บอกไปเลยว่าเราดีกว่าคนอื่นยังไง ทำไมเค้าต้องเลือกเราเป็นคู่ชีวิต

การค้นหาเพื่อซื้อ (Transactional)

การค้นหาแบบนี้ หมายความว่าคนที่เสิร์ชคือพร้อมที่จะมี action บางอย่างแล้วค่ะ เช่นการซื้อสินค้าหรือบริการ แต่ทั้งนี้ก็รวมไปถึง Action อย่างอื่นด้วย เช่น การติดตามบล็อก, Subcribe อีเมล, โทรหาร้านค้า หรือกระทั่งเดินทางไปที่ร้านเลย ประเด็นหลักของการเสิร์ชแบบนี้คือการเข้าใจว่า คนอาจจะไม่ได้ต้องการเปรียบเทียบตัวเลือก หรือหาข้อมูลเพิ่มแล้ว แต่ต้องการซื้อเลย เช่น คีย์เวิร์ดประเภท

  • สั่งจอง iPhone
  • ย้ายค่ายไป AIS
  • ราคา Ahrefs
  • เบอร์ร้าน Bankara Reman

การค้นหาแบบนี้เหมือนคนที่กำลังจะขอแฟนแต่งงานค่ะ เค้าพร้อมจะลงเอยแล้ว เข้าไปจีบให้เปลี่ยนใจตอนนี้ก็อาจจะยากหน่อย มันเลยช่วงที่เค้ากำลังศึกษา ดูใจ หรือหาคนคุยเป็นทางเลือกไปแล้ว (ฉันมายินดีให้กับรักที่สดใส 😂)

วิธีทำคอนเทนต์ให้ตรงกับ Search Intent

ก่อนที่จะทำคอนเทนต์ทุกครั้ง ไม่ว่าจะเป็นหน้าเว็บไซต์ใหม่ บล็อก วิดีโอ Infographic ต่างๆ อย่าลืมดูเรื่อง Search Intent กันก่อนนะคะ วันนี้จะมาเล่าวิธีการดูเป็นแมวทาง เอ้ย แนวทาง ให้กับทุกคนกันค่ะ 🙂 เงี้ยววว

ขั้นตอนที่ 1: เช็ก SERPs ก่อนทำคอนเทนต์ทุกครั้ง

SERPs ย่อมาจาก search engine results page ซึ่งมันก็คือหน้าผลลัพธ์การค้นหาบน Google นี่เองค่ะ ก่อนที่จะทำคอนเทนต์ทุกครั้ง เอาคำที่อยากจะติดอันดับไปลองค้นหาใน Google ดูก่อน แล้วดูว่าผลการค้นหาที่ขึ้นมาเป็นแบบไหน ไอเดียของมันคือ Google ได้เลือกแล้วว่าสิ่งที่ขึ้นมาหน้าแรก คือสิ่งที่ตอบโจทย์การค้นหาของคนค่ะ ดังนั้นถ้าเราจะไปช่วงชิงพื้นที่หน้าแรกมา ก็ต้องทำตามแนวทางเดียวกันด้วย

โดยหลักๆ แล้วเราจะดูกัน 4 อย่างค่ะ คือ สไตล์, ประเภท,​ ฟอร์แม็ต, และมุมมอง ฟังดูงงๆ หน่อย เดี๋ยวเรามาดูกันทีละตัวนะคะ 🙂

สไตล์ของคอนเทนต์

อันนี้คือตัวแรกที่เราจะดูก่อนเลยค่ะ มันคือการดูว่าคอนเทนต์นี้เป็นสไตล์ไหน สไตล์ในที่นี้หมายความว่า เป็นคอนเทนต์แบบวิดีโอ รูปภาพ หน้าเว็บบล็อก หรือตัว Rich Results ขึ้นมาเยอะๆ แล้วถ้าคอนเทนต์ส่วนใหญ่เป็นแบบไหน ก็ให้เราทำแบบนั้นค่ะ เช่นอย่างคีย์เวิร์ด “iPhone Unboxing” ด้านล่างนี้ ผลลัพธ์ที่ขึ้นมาเป็นวิดีโอทั้งหมด ต่อให้เราเขียนบล็อกดีแค่ไหนก็ไม่มีทางติดหน้าแรกได้เลยค่ะ ถ้าเราอยากติดหน้าแรกคำนี้ ก็ต้องทำคอนเทนต์เป็นแบบวิดีโอ 🙂

ประเภทของคอนเทนต์

หลังจากที่เราดูสไตล์ของผลลัพธ์ไปแล้ว ถ้าผลการค้นส่วนใหญ่เป็นหน้าเว็บปกติ (ลิงก์สีฟ้า) ไม่ได้เป็นวิดีโอหรือรูป เราก็จะมาดูประเภทของหน้าเว็บกันค่ะ ส่วนใหญ่ผลการค้นหาแบบตัวหนังสือจะมีอยู่แค่ไม่กี่แบบ ได้แก่ หน้าสินค้า, หน้า category ของสินค้า,​ บล็อก, หรือหน้าเว็บไซต์ (landing page)

ถ้าคนเสิร์ชหาคำว่า “รีวิวไอโฟน” ตัวหน้าการค้นหาที่ขึ้นมา จะเป็นประเภทบล็อกเกือบทั้งหมด

แต่ถ้าเราเสิร์ชคำว่า “ซื้อเสื้อกันหนาว” แบบนี้ผลการค้นหาส่วนใหญ่ก็จะเป็นหน้า e-commerce ที่รวมสินค้าเสื้อกันหนาวหลายๆ อันเอาไว้

ฟอร์แมตและมุมมองของคอนเทนต์

ตรงนี้เราจะมาดูกันว่า คอนเทนต์ส่วนใหญ่ที่ขึ้นมาหน้าแรก เป็นมุมมองไหน เช่น

  • เป็นบทความแบบ How-to
  • เป็นการรีวิว
  • เป็นบทความสำหรับมือใหม่
  • หน้าเว็บสำหรับคนที่เชี่ยวชาญในเรื่องนั้นๆ แล้ว
  • เป็นการให้ความคิดเห็น
  • เป็นการเปรียบเทียบ

เช่นอย่างภาพด้านล่างนี้ จะเห็นได้ว่าคนที่เสิร์ชคำว่า “Bitcoin Guide” นั้นส่วนใหญ่น่าจะเป็นผู้ที่เพิ่งเริ่มต้น และกำลังศึกษาด้วยตัวเอง เพราะผลการค้นหาสามอันดับแรก เป็นคู่มือสำหรับมือใหม่ทั้งหมดเลยค่ะ ถ้าเราจะมาเขียน Bitcoin Guide แต่เน้นเทคนิค สำหรับคนที่เทรดมานานแล้ว ก็อาจจะติดหน้าแรกคำนี้ยากนิดนึง

ขั้นตอนที่ 2: เขียนคอนเทนต์แบบมี Secondary Keywords เสมอ

เวลาที่เราเขียนบทความหรือทำคอนเทนต์ เราก็หวังจะให้ได้ผลลัพธ์ที่ดีที่สุดใช่มั้ยล่ะคะ?​ หนึ่งในวิธีที่จะช่วย Maximize พลังงานของเราได้ ก็คือการทำให้บทความของเราติดอันดับดีๆ ได้มากกว่า 1 คีย์เวิร์ด แต่ทั้งนี้จะมารวมเรื่องโน่นนี่ในบทความเดียวกันไปหมดก็ไม่ใช่ค่ะ เช่นเขียนบทความเรื่องแมวส้ม แต่จะใส่คำถามเรื่องพลังงานรถไฟฟ้า ก็อาจจะแปลกๆ หน่อย แต่เราจะต้องดูว่ามีคีย์เวิร์ดอื่นๆ หรือคำถามอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องที่เรากำลังเขียนหรือเปล่า แล้วเอามาเติมในคอนเทนต์เดียวกันให้ครบถ้วนค่ะ โดยการดูคำพวกนี้ ทำได้หลายวิธีเลยค่ะ วันนี้ยกมาสองวิธีก่อน 🙂

หาคีย์เวิร์ดด้วย People also ask

หนึ่งในวิธีที่ง่ายที่สุดคือคอยดูกลอง เอ้ย กล้อง เอ้ย กล่อง เอ้ย ถูกแล้ว! คือคอยดูกล่อง “People also ask” หรือคำถามอื่นๆ ที่ผู้คนถามเกี่ยวกับเรื่องนี้ค่ะ เช่น สมมติเมอยากติดคีย์เวิร์ดคำว่า How to make pancakes เมก็จะต้องมีคำถามที่เกี่ยวข้องในคอนเทนต์นี้ด้วย เช่น How to make pancakes from scratch? หรือ What is the best pancake mix? เพื่อให้คอนเทนต์ของเรามันเต็ม ครบถ้วน สมบูรณ์ขึ้นค่ะ

หาคีย์เวิร์ดด้วย Ahrefs (ฟรี)

ถ้าใครใช้ Ahrefs ตัวเสียเงินอยู่แล้ว สามารถใส่คีย์เวิร์ดลงไปใน Keyword Explorer แล้วกด Having the same search term ทางซ้ายมือได้เลยค่ะ แต่สำหรับใครที่ไม่เคยใช้ ลองมาดู​ Ahrefs Keyword Generator ได้ ใช้ฟรีเลย โดยเข้าไปปุ๊ป ก็กรอกคีย์เวิร์ดตั้งต้น เลือกประเทศ แล้วค้นหาได้เลยค่ะ ก็จะมีไอเดียมาให้เต็มเลย สามารถดูคีย์เวิร์ดไอเดียได้ทั้งแบบปกติและแบบคำถาม ไปพร้อมกับจำนวนการค้นหาแต่ละเดือนของคำนั้น แล้วก็ Keyword Difficulty หรือความยากในการติดหน้าแรกได้ด้วยค่ะ

ขั้นตอนที่ 3: ทำคอนเทนต์ให้ดีที่สุด

นอกจากนี้ ก็เป็นการทำคอนเทนต์ให้ดีที่สุดตามตกกะปิ (เจ้ย!) ปกติที่ควรจะเป็นเลยค่ะ เช่น

  • เอาคีย์เวิร์ดที่อยากได้ ไว้ใน Title,H1, Subheadings, URL และ Descriptions เสมอ
  • ทำคอนเทนต์ให้ลึก อ่านง่าย
  • ลิงก์ไปอ้างอิงจากเว็บไซต์ที่น่าเชื่อถือเสมอ
  • ให้มี CTA (Call to action) ที่เคลียร์ที่สุด ถ้าเป็นเว็บขายของ ก็ทำปุ่มซื้อให้เห็นชัดๆ กดง่ายๆ ทำให้ระยะเวลาจากการเข้าเว็บไปจนถึง action ที่เราอยากให้ทำ สั้นที่สุด
  • ความเร็วเว็บไซต์ดี ใช้งานได้ง่าย โดยเฉพาะบนมือถือ
  • UX ดี
  • Core Web Vitals ผ่านมาตรฐาน

สรุปเรื่อง Search Intent

สรุปการเขียนคอนเทนต์เพื่อให้ตอบโจทย์​ Search Intent

  • เสิร์ชคำนั้นที่อยากได้ใน Google ก่อน แล้วดูว่าหน้าเว็บที่ขึ้นมาเป็นแบบไหน
  • ทำให้เป็นสไตล์เดียวกัน ฟอร์แม็ทและมุมมองไปทางเดียวกัน เพราะ Google เลือกมาแล้ว
  • เขียนคอนเทนต์ให้ ลึก ครบ ข้อมูลจริง มี Secondary Keywords เสมอ
  • ลิงก์ไปเว็บที่น่าเชื่อถือ
  • ทำเว็บให้ดีในทุกด้าน เช่น ความเร็ว Mobile-friendly และ Core Web Vitals

สุดท้ายแล้วเรื่อง Search Intent ก็คือการทำความเข้าใจกับการค้นหา แล้วพยายามเป็นคำตอบในเรื่องนั้นๆ ค่ะ คนไม่ใช่ทำอะไรก็ผิดมันคือเรื่องจริงเลย ถ้าเค้าแค่หาคนคุย แต่เราหาความรักที่จริงจัง ต่อให้พยายามแค่ไหน ก็ยากที่จะทลายกำแพงนั้นไปได้นะคะ 🙂 แต่ถ้าหาความรักกันทั้งคู่อยู่แล้ว มันก็จะจบลงได้ง่าย ไม่ต้องพยายามเอาชนะใจฝ่ากำแพงทลายหินมาก

อย่าลืมว่าเราไม่ได้กำลังสู้กับ Google แต่ทุกครั้งที่ทำคอนเทนต์ เรากำลังเป็นอีกหนึ่งช่องทางในการส่งมอบคอนเทนต์คุณภาพ หรือสินค้าและบริการที่ดี เพื่อตอบโจทย์คนที่อ่านค่ะ

หวังว่าทุกคนจะชอบบล็อกนี้ และได้ประโยชน์ไปบ้างไม่มากก็น้อยนะคะ ถ้าชอบก็สามารถกดแชร์ด้านล่างได้,​ ทิ้งคอมเมนท์ไว้ หรือว่ามาคุยกันต่อใน Facebook ได้เลยค่ะ 🙂 หรือถ้าสนใจอยากหาคนช่วยทำ SEO หรือเรียนคอร์ส SEO ก็ลองเข้าไปดูรายละเอียดเพิ่มเติมกันได้นะคะ ขอบคุณค่ะ ❤️

--

--