Google Trends คือ?​ วิธีใช้เพื่อช่วยธุรกิจและ SEO (ง่าย&ฟรี)

Chalakorn Berg
5 min readMar 17, 2021

สวัสดีค่า มาพบปัน เอัย วัน เอ้ย กัน เอ้ย (ถูกแล้ว!) มาพบกันอีกแล้วกับบทความเรื่อง SEO ที่เข้าใจง่าย ทำตามได้ และเห็นผลได้จริงค่ะ วันนี้เราจะมารู้จักกับเครื่องมืออย่าง Google Trends ที่หลายคนมองข้ามไป ทั้งๆ ที่เจ้าเครื่องมือนี้มีประโยชน์ไม่น้อย และที่สำคัญคือใช้ได้ฟรี! แม้ว่า Google Trends จะไม่ได้เป็นเครื่องมือที่ช่วยเราเจาะลึกทางด้าน SEO ได้มาก แต่ด้วยความฟรีแล้ว ถ้าเราใช้เป็น ก็สามารถใช้เป็นประโยชน์กับ SEO และธุรกิจโดยรวมของเราได้มากเลยค่ะ วันนี้เลยจะมาเล่าว่า Google Trends คืออะไร?​ มีฟีเจอร์อะไรบ้าง?​ และเราจะใช้ฟีเจอร์พวกนี้มาช่วยธุรกิจ กับ SEO ได้ยังไง? มาเริ่มกันเลยเนอะ : )

Google Trends คืออะไร?

Google Trends คือเครื่องมือจาก Google ที่ช่วยให้เรารู้ข้อมูลแนวโน้มความสนใจในการค้นหาเรื่องต่างๆ บน Google โดยสามารถดูได้ตั้งแต่ระดับคีย์เวิร์ดไปจนถึงหัวข้อหลัก ซึ่งสามารถดูข้อมูลได้ทั้งจากการค้นหาบนเว็บ (Web Search), การค้นหารูป (Image Search), การค้นหาข่าว (News Search), การค้นหาบน YouTube (YouTube Search) และ Google Shopping เลยค่ะ ที่สนุกคือสามารถดูข้อมูลได้ย้อนหลังสูงสุดไปถึงปี 2004 เลยค่ะ

ซึ่งตัวนี้เราสามารถใช้ได้หลากหลายมากๆ ทั้งการหาไอเดียทำคอนเทนต์ เลือกของมาขาย วางแผนธุรกิจ เลือกคีย์เวิร์ดทำ SEO หรือกระทั่งจะเลือกโลเคชันร้านชานมก็ยังได้ค่ะ มาดูกันก่อนว่าใช้ยังไง แล้วตัวอย่างการใช้และประโยชน์จะอยู่ท้ายบทความค่ะ : )

วิธีใช้ Google Trends

Google Trends เป็นเครื่องมือที่ใช้งานไม่ยาก เลยอาจจะดูไม่ซับซ้อน แต่หลายคนอาจจะไม่รู้ว่ามันมีฟีเจอร์ซ่อนอยู่ให้เราไปตามหาได้หลายๆ ที่ค่ะ ลองมาดูกันว่า Google Trends ใช้ยังไง แล้วมีฟีเจอร์อะไรซ่อนอยู่บ้าง

1. การเริ่มต้นใช้งาน Google Trends

เริ่มแรกเลยเราก็ไปที่ https://trends.google.com/trends/?geo=TH ค่ะ ตัวนี้จะเข้าตรงไปสำหรับการค้นหาในประเทศไทยเลย ส่วนถ้าใครทำธุรกิจในต่างประเทศ หรืออยากหาข้อมูลสำหรับประเทศอื่นๆ สามารถเปลี่ยนได้ทางด้านบนขวามือตามรูปเลยค่ะ

2. ดูการค้นหาที่กำลังเป็นเทรนด์ตอนนี้

จากหน้าจอด้านบน ถ้าเลื่อนลงมาข้างล่าง เราจะสามารถเลือกดูคำที่กำลังเป็นเทรนด์ในการค้นหาช่วงนี้ในประเทศของเราได้ค่ะ เช่น ข่าวดังๆ วันนั้น โดยจะมีบอกแบบประมาณให้ด้วยว่ามีการค้นหาประมาณเท่าไหร่ เช่น “สีชมพู” วันนี้มีการค้นหากว่าหมื่นครั้งเลยค่ะ แต่เอ๊ะ ทำไมวันนี้คนฮิตคำนี้ล่ะ?​ นี่มันสีมงคลประจำวันหรอ? แบบนี้ถ้าเราสงสัยอยากหาข้อมูลเพิ่ม ก็สามารถกด More Trending Searches ได้เลย

พอคลิกเข้ามาแล้วก็จะเห็นใจกันบ้างมั้ยคนดี เอ้ย เห็นหน้าตา Daily Search Trends หรือเทรนด์การค้นหาในแต่ละวันแบบนี้ค่ะ จะเห็นว่าวันที่ 6 มีนาคม มีการค้นหาคำว่า “สีชมพู” เยอะ เพราะว่ามีข่าวเรื่องรถไฟฟ้าสีชมพูค่ะ นอกจากนี้เราก็ยังเลื่อนไปข้างล่าง เพื่อดูข้อมูลเทรนด์การค้นหาของแต่ละวันย้อนหลังได้อีกด้วยค่ะ ส่วนตัว Realtime Search Trends หรือเทรนด์การค้นแบบไม่ต้องรอเป็นวัน แต่ดูตอนนี้เลย ตัวนี้ยังไม่สามารถใช้งานในประเทศไทยได้ค่ะ

3. ค้นหาแนวโน้มการค้นหาของหัวข้อ หรือ คำต่างๆ

ทีนี้ถ้าเราอยากดูการค้นหาของแต่ละคำหรือหัวข้อ เราก็เอามาใส่ในช่องการค้นหาบนสุดนี้ได้ค่ะ จะเห็นว่าพอเมพิมพ์คำว่าวัคซีน มันจะมีขึ้นมาให้เลือกหลายอันเลย โดยข้อแตกต่างจะเป็นแบบนี้ค่ะ

  • วัคซีน (Search Term): ตัว Search Term หมายความว่ามันจะแสดงข้อมูลของคำนี้เพียงอย่างเดียว ถ้าคนเสิร์ชเรื่องวัคซีนแต่พิมพ์ภาษาอังกฤษแบบ Vaccine ก็จะไม่มีข้อมูลแสดงในอันนี้ค่ะ
  • Vaccine (Topic): ตัวนี้หมายความว่ามันจะรวมคำค้นหาทุกอันที่เกี่ยวข้องกับวัคซีนมาเลย สมมติเมพิมพ์ว่า Vaccine, Vaccination, การฉีดวัคซีน, ข่าววัคซีน,​ วัคซีนไข้หวัด,​ วัคซีนต้านรัก แบบนี้ก็คือจะรวมมาแสดงผลในแบบ Topic ทั้งหมดค่ะ
  • COVID-19 Vaccine: จะเป็นหมวดของวัคซีนที่เกี่ยวกับ โควิด-19 ข้อมูลของการเสิร์ชวัคซีนประเภทอื่นๆ ก็จะไม่รวมในนี้ เช่นเดียวกับ Influenza Vaccine หรือวัคซีนไข้หวัดใหญ่ค่ะ

4. การอ่านกราฟข้อมูล Google Trends ที่ถูกต้อง

สิ่งสำคัญที่เราต้องรู้ คือข้อมูล บน Google Trends ไม่ใช่จำนวนการค้นหาค่ะ แต่เป็นแนวโน้มการค้นหาแบบเปรียบเทียบกับช่วงเวลาอื่น โดยกราฟจะแสดงข้อมูลจาก 0–100 ช่วงเวลาที่มีการค้นหาคำนี้เยอะที่สุด กราฟก็จะขึ้นไปแตะที่ 100 ส่วนช่วงที่ไม่มีการค้นหาเลย ก็จะเป็น 0 ค่ะ

นี่หมายความว่าอย่างเดือนมีนาคมปีที่แล้ว ที่มีการค้นหา 25 หมายความว่าการค้นหาคิดเป็นประมาณ 25% เมื่อเทียบกับมีนาคมปีนี้ ที่กราฟขึ้นไปแตะ 100 ค่ะ

5. ดู Location ของการค้นหา

พอเลื่อนลงมาใต้กราฟแล้ว เราจะเห็นข้อมูลเกี่ยวกับพื้นที่ของการค้นหาได้ค่ะ จะเห็นว่าในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา มีการค้นหาเรื่องวัคซีนจากแม่ฮ่องสอน ภูเก็ต และอ่างทอง มาเป็นสามอันดับแรก มากกว่ากรุงเทพสะอีก น่าสนใจเหมือนกันนะคะว่าทำไม อาจจะเป็นเพราะว่าจังหวัดพวกนี้พึ่งพาการท่องเที่ยวมากกว่ากรุงเทพที่มีธุรกิจหลากหลายกว่า เลยต้องการวัคซีนมากกว่า หรือใครมีคำอธิบาย ทิ้งคอมเมนท์ไว้ด้านล่างได้เลยค่ะ

6. ดูหัวข้อและคำที่เกี่ยวข้อง

พอเลื่อนลงมาใต้ข้อมูลเกี่ยวกับพื้นที่ เราจะเห็นสองช่องนี้คือ Relate Topics หรือหัวข้อที่เกี่ยวข้องกับสิ่งที่เรากำลังดูอยู่ ส่วนขวามือเป็น Related Queries ก็คือคำที่ใกล้เคียงกับการค้นหาของเราค่ะ จะเห็นได้ว่าคนไทยดูสนใจวัคซีน Pfizer ไม่น้อย เรียกว่าอยู่ใน Related Topics ถึงสองรอบ แล้วก็ยังติดอันดับคำค้นหาที่เกี่ยวข้องเป็นคำที่ 5 อีกด้วย ค่ะ

ฟีเจอร์เพิ่มเติมในการใช้ Google Trends

1. เลือกช่วงเวลาในการค้นหา

คำบางคำอาจจะหมายถึงคนบางคน เอ้ย อาจจะมีการค้นหาจำนวนมาก ในระยะเวลาสั้นๆ เท่านั้นค่ะ ดังนั้นแล้วทุกครั้งที่ดูข้อมูล ให้ดูทั้งภาพกว้างและลึก โดยเราสามารถใช้ Google Trends ดูข้อมูลได้ทั้ง 1 ชั่วโมงย้อนหลัง ไปจนถึง ปี 2004 เลยค่ะ อย่างภาพด้านล่างจะเห็นได้ว่า การ์ดยูกิฮิตมากๆ ในช่วงปี 2009–2010 แต่หลังจากนั้นการค้นหาก็ลดลงเรื่อยๆ จนปัจจุบันแทบไม่มีแล้วค่ะ เข้าไปเลือกช่วงเวลาที่ต้องการได้ตรงใต้คำ เหนือกราฟ ที่เมวงเวียน เอ้ย วงไว้เลยค่ะ : )

2. เลือกหมวดหมู่ของหัวข้อ

ทีนี้บางคำมันอาจจะมีปัญหาได้ว่า คำเดียวกันใช้ได้ในหลายบริบท โดยเฉพาะในภาษาไทยเลยค่ะ เช่น การค้นหาคำว่า “พายุ” เราอยากรู้ข้อมูลเกี่ยวกับน้องพายุลูกแม่ชม ไม่ใช่ พายุแบบสภาพอากาศ แบบนี้เราก็จะมาเลือกหัวข้อได้ค่ะ แต่ตัวนี้ใช้แล้วจะงงๆ นิดนึงในภาษาไทย อาจจะต้องระวังนิดนึงค่ะข้อมูลไม่ตรง อย่างในภาพนี้เมเลือก พายุ ในหัวข้อ Celebraties & Entertainment News หรือข่าววงการบันเทิง ก็เหมือนจะขึ้นคำที่เกี่ยวข้องเป็นพวกสภาพอากาศอยู่ดี เครื่องมือส่วนใหญ่จะค่อนข้างมีปัญหากับภาษาไทย ดังนั้นตรงนี้เน้นรู้ไว้ใช่ว่า ใส่บ่า หนัก เลยต้องไปนวด 😂 เรียกว่ารู้ไว้ก็พอแต่อย่าเชื่อมากค่ะ

3. เลือกแพลตฟอร์มการค้นหา

นอกจากการค้นหาบนหน้า Google ปกติแล้ว เจ้า Google Trends ยังให้เราดูเทรนด์ความสนใจแบบเดียวกันในรูปแบบอื่นๆ เช่น การอ่านข่าว หารูป หรือดู YouTube ได้ด้วยค่ะ สามารถเข้าไปเลือกแพลตฟอร์มที่ต้องการได้ตรงนี้เลย

4. เลือกดูระหว่างสิ่งที่คนกำลังสนใจ กับสิ่งที่คนสนใจมากที่สุด

ตรงหัวข้อที่เกี่ยวข้อง กับ คำที่เกี่ยวข้อง เราสามารถเลือกฟิลเตอร์ได้สองแบบคือ Top กับ Rising ค่ะ โดยตัว Top นี้มันจะดูหัวข้อ และคำ ที่ได้รับความนิยมสูงที่สุด ในช่วงเวลาที่เราเลือก ส่วน Rising คือคำหรือหัวข้อที่กำลังฮิตตอนนี้ คำว่า Breakout หมายถึงมีการค้นหาเพิ่มขึ้น +5000% จากช่วงก่อนค่ะ จะเห็นว่าหัวข้อที่เกี่ยวข้องกับ Vaccine ในรอบ 12 เดือนที่ผ่านมาพอเมเลือกแบบ Top จะมีเรื่องวัคซีนไข้หวัดใหญ่ และวัคซีนสุนัขด้วย แต่พอเมเลือกแบบ Rising จะมีแค่เรื่องวัคซีน COVID-19 ทั้งนั้นเลยค่ะ

5. เปรียบเทียบคำหรือหัวข้อ

เรายังสามารถกด + Add Comparison เพื่อเพิ่มคำหรือหัวข้อมาเทียบกันได้ด้วยค่ะ อย่างในภาพ เมลองเทียบการค้นหาระหว่างหน้ากากอนามัย กับ วัคซีน จะเห็นว่าหน้ากากอนามัยหรือเส้นสีแดง มีการค้นหาโดยรวมเยอะกว่ามากในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา แต่ว่าช่วงท้าย วัคซีนกลับมีการค้นหามากกว่าแล้วค่ะ

Google Trends ช่วยธุรกิจได้ยังไงบ้าง?

อ่านมาถึงตรงนี้ ทุกคนก็สามารถดูข้อมูลบน Google Trends กันได้หมดแล้วเนอะ : ) ทีนี้เราจะมาดูกันค่ะว่าเราเอาข้อมูลนี้มาทำอะไรที่ช่วยให้ธุรกิจของเราดีขึ้นได้บ้าง

1. ดูข้อมูลเพื่อเลือกสินค้ามาทำธุรกิจ

เราสามารถเลือกเปรียบเทียบสินค้าหรือบริการที่เกี่ยวกับธุรกิจของเราได้ค่ะ เช่น เรากำลังจะเปิดร้านใหม่ คิดอยู่ว่าจะเปิดร้านครัวซองต์ หรือร้านชานมดี ก็ลองเอาทั้งสองหัวข้อมาค้นหาดู จะเห็นว่าตัวชานมนั้นมีการค้นหารวมเยอะกว่ามากครึ่งๆ เลย แต่ช่วงหลังตั้งแต่ปลายปี 2020 ครัวซองต์กลับแซงหน้ามาได้ แต่ก็ต้องระวังด้วยนะคะว่าเทรนด์บางอย่างอาจจะมาแปปเดียวแล้วหายไป อีกหกเดือนคนอาจจะลืมครัวซองต์แล้วก็ได้ เรียกว่าดูเป็นแนวทางได้ แต่ต้องดูข้อมูลอื่นประกอบด้วยค่ะ

2. ดูพื้นที่เพื่อวางแผนการตลาดในพื้นที่

สมมติเมกำลังจะเปิดร้านชานม เมก็สามารถลงมาดูข้อมูลได้ว่า ส่วนใหญ่มีการค้นหาร้านชานมที่ไหน ซึ่งดูแล้วก็เข้มเกือบทั้งประเทศเลยค่ะ เรียกว่าฮิตทั่วบ้านทั่วเมืองที่แท้ แต่ตัวท็อปเลยคือระนอง ตราด และสตูลค่ะ แบบนี้เป็นโอกาสทางธุรกิจให้เราไปดูต่อได้เลย ว่าพื้นที่เหล่านี้มีคู่แข่งหรือยัง ตลาดเป็นยังไง ช่วยให้เรามารถสโคปธุรกิจได้อย่างมีทิศทางมากขึ้นค่ะ หรือถ้าเป็นสินค้าที่ขายทั่วประเทศ เป็นขานมแช่แข็ง ก็อาจจะยิงโฆษณาไปที่จังหวัดเหล่านี้ได้ เพราะมีความสนใจมากอยู่แล้วค่ะ

3. เปรียบเทียบกับคู่แข่งได้

ข้อมูลบน Google Trends จะช่วยให้เราสามารถเทียบความสนใจในแบรนด์ หรือการรับรู้ของแบรนด์เราเมื่อเทียบกับคู่แข่งได้ค่ะ พูดง่ายๆ ก็คือเราสามารถดูว่าถ้าเทียบกันแล้ว คนค้นหาเรามากน้อยยังไงเมื่อเทียบกับคู่แข่ง หรือในช่วงที่เราทำแคมเปญการตลาด มีคนสนใจเรามากขึ้นหรือเปล่า อย่างในรูปด้านล่าง เมลองเทียบระหว่าง AIS, DTAC และ TRUE ค่ะ จะเห็นได้ว่าช่วงแรกๆ ทั้งสามเจ้าค่อนข้างสูสีกัน แล้ว DTAC กับ TRUE ก็มาแรงขึ้น จนถึงช่วงปลายปี 2014 ที่เกิดการเปลี่ยนแปลงชัดเจน โดย TRUE พุ่งขึ้นมาเป็นอันดับ 1 ส่วน DTAC นั้นก็ร่วงลงไปเป็นที่ 3 แบบที่อันดับดูจะห่างขึ้นเรื่อยๆ ด้วยค่ะ

4. เลือกสินค้าให้ถูกจังหวะ

บางธุรกิจอาจจะมีการเปลี่ยนสินค้าและบริการไปเรื่อยๆ การใช้ Google Trends จะช่วยให้เราเข้าใจว่า สินค้าแต่ละอย่างมีวงจรยังไง แล้วเราจะขายและโปรโมทตอนไหนดี เช่น ในภาพตัวอย่างคำว่า ช่อดอกไม้ มีการค้นหาแบบเดิมทุกปีคือเริ่มขึ้นตั้งแต่ช่วงปลายเดือนมกราคม ค่อยๆ เพิ่มขึ้นไปพีคในช่วงวาเลนไทน์ และจากนั้นก็ค่อยๆ ตกลงมา เป็น Seasonal ชัดเจนไม่ได้ขายดีทั้งปี เรียกว่ามีคนบางส่วนเริ่มเตรียมตัวก่อนหน้า และบางส่วนก็เน้นตามง้อทีหลัง แต่ส่วนใหญ่ก็เสิร์ชกันช่วงวาเลนไทน์เลย ดังนั้นแล้วถ้าเราจะขายและโปรโมทดอกไม้ ก็เริ่มทำได้ตั้งแต่มกราคมเลย ไม่ต้องรอไปจนวาเลนไทน์ค่ะ

การใช้ Google Trends เพื่อช่วย SEO

แน่นอนว่าเป็นเว็บไซต์เรื่อง SEO นั้นโก้จริงๆ ตือดึดตึดตื้อตึดตือดือดึด เราจะไม่พูดเรื่อง SEO ก็ไม่ได้ค่ะ แม้ว่าข้อมูลบน SEO จะไม่ค่อยลึกเมื่อเทียบกับเรื่องมืออย่าง Semrush หรือ Ahrefs แต่ว่าด้วยความฟรี แน่นอนว่าถ้าเราใช้ให้ดีก็มีประโยชน์ค่ะ มาดูกัน

1. ใช้ Google Trends เพื่อทำคอนเทนต์ตามเทศกาล

คอนเทนต์บางอย่างก็มีการค้นหาเป็นบางช่วงค่ะ เช่น การเที่ยวเชียงใหม่ ที่ทุกปีคนจะเริ่มค้นหาในช่วงเดือนตุลาคม ไปพีคในช่วงปีใหม่ แล้วก็ตกลงมา จากนั้นก็มาเริ่มใหม่ตอนใกล้ปลายปี แบบนี้เราควรเริ่มทำคอนเทนต์ล่วงหน้าก่อนสัก 2–3 เดือน เผื่อให้ Google ได้รู้จักกับคอนเทนต์ของเรา มีเวลาได้ติดอันดับ เพื่อช่วงที่มีการค้นหาเยอะๆ เว็บของเราจะได้เป็นหนึ่งในตัวเลือกของหน้าแรก แล้วพอคนเข้าเว็บเราเยอะๆ แล้วคอนเทนต์เราดี คนอ่านนาน ได้คำตอบ Google ก็จะช่วยอันดับเว็บเราให้ดีขึ้นไปได้อีกค่ะ

2. เลือกคีย์เวิร์ดในการทำคอนเทนต์

คำบางคำเราอาจจะเรียกได้หลายแบบ แล้วเราตัดสินใจไม่ถูกว่าจะใช้คำไหนเป็นคำหลักที่เราจะวางไว้จุดสำคัญๆ ในคอนเทนต์ดี แบบนี้เอามาใส่ Google Trends ก็ช่วยได้ค่ะ เช่น ถ้าเมกำลังเลือกระหว่างคำว่า ประกันชั้น 1 กับ ประกันรถยนต์ชั้น 1 จะเห็นได้ว่าคำว่าประกันชั้น 1 คนใช้เยอะกว่ามาก ถ้าเมทำคอนเทนต์ก็จะใช้คำนี้เป็นหลัก แล้วในพารากราฟหรือหัวข้อย่อย ค่อยใช่ ประกันรถยนต์ชั้น 1 แทรกมาแทนค่ะ

3. สร้างคอนเทนต์ที่ช่วยหา Backlink

ส่วนใหญ่เวลาทำคอนเทนต์​คนก็จะต้องหา Referrence หรือแหล่งอ้างอิงใช่มั้ยคะ? ดังนั้นการที่เราเป็นคนแรกที่ทำคอนเทนต์ในเรื่องนั้นๆ ก็มีโอกาสที่คนจะเจอคอนเทนต์เรา และใช้เป็นแหล่งอ้างอิงในคอนเทนต์ของเขาได้ เช่น เราเขียนคอนเทนต์เรื่องข่าวอัปเดตในวงการ SEO ไว้ก่อน สมมติเว็บสื่อหลักอย่างลงข่าวนี้ เข้าก็อาจจะเสิร์ช เจอเรา แล้วก็ลิงก์มาที่เราเป็นแหล่งอ้างอิงได้ ช่วยสร้าง Backlink ได้แบบที่ไม่ต้องรองขอมากเลยค่ะ โดยตัวนี้เราไปดูได้ที่ Daily Search Trends

4. หาไอเดียทำคอนเทนต์

บางทีเรานึกออกแค่เรื่องกว้างๆ ว่าเราอยากทำคอนเทนต์เรื่องอะไร แต่บางทีมันก็ตันๆ เพราะเรากินเยอะ เอ้ย เพราะเขียนมาเยอะแล้ว ลองใช้ Related Topics และ Related Queries เพื่อหาคำและหัวข้อที่เกี่ยวกับเราได้ค่ะ อย่างเมลองไปดูคำที่เกี่ยวกับร้านอาหาร จะเห็นได้ว่าคนสนใจเรื่องอาหารญี่ปุ่น ร้านอาหารที่มีเราเที่ยวด้วยกัน ร้านอาหารทะเล ร้านอาหารในไอคอนสยาม ร้านอาหารฮาลาล ส้มตำ และร้านอาหารแถวอารีย์ ดูแปปเดียวได้ไปเกือบสิบหัวข้อเลยค่ะ

[แถม] การใช้ Google Trends เพื่อคอนเทนท์ใน YouTube

การค้นหาบางอย่างจะแตกต่างกันแล้วแต่แพลตฟอร์มค่ะ อย่างด้านล่างนี้จะเห็นว่า คนเสิร์ช Bearhug บนเว็บแบบขึ้นๆ ลงๆ แล้วแต่ช่วง อาจจะเพราะมีข่าว หรือว่ามีโครงการใหม่ๆ แต่ถ้าบน YouTube การค้นหาจะค่อนข้างต่อเนื่อง แบบนี้ถ้าเราจะทำคอนเทนต์เกี่ยวกับ Bearhug หรืออาจจะขอ Collab กันบน YouTube ก็น่าจะเป็นโอกาสที่ดี โดยเราสามารถใส่คีย์เวิร์ดอื่นๆ ลงมา เพื่อดูไอเดียในการทำคอนเทนต์บน YouTube ได้เช่นกันค่ะ

สรุปเรื่องการใช้ Google Trends

Google Trends เป็นเครื่องมือที่ฟรี และค่อนข้างดีจาก Google ค่ะ ช่วยให้เราสามารถตามหาหัวใจ เอ้ย หาข้อมูลเกี่ยวกับหัวข้อและคีย์เวิร์ดที่เราต้องการได้ ดูเทรนด์ความสนใจ ข้อมูลที่เกี่ยวข้อง หรือกระทั่งพื้นที่ในการค้นหา โดยเราสามารถเอาข้อมูลใน Google Trends มาใช้เพื่อช่วยให้ธุรกิจของเราดีขึ้น และก็ยังช่วยด้าน SEO ได้อีกด้วยค่ะ หวังว่าทุกคนจะได้ประโยชน์จากบทความนี้ไปไม่มากก็น้อยนะคะ : )

ถ้าชอบก็สามารถกดแชร์ด้านล่างนี้ ทิ้งคอมเมนท์ไว้ หรือว่ามาคุยกันต่อในหน้า Facebook ของเมได้เลยค่ะ : ) หรือถ้าสนใจอยากหาคนช่วยทำ SEO หรือเรียนคอร์ส SEO ก็ลองเข้าไปดูรายละเอียดเพิ่มเติมกันได้นะคะ ขอบคุณค่ะ ❤️

--

--